การสหกิจศึกษา

1.หลักการและเหตุผล
สหกิจศึกษาเป็นระบบการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้นักศึกษาได้นำวิชาการทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่ได้ศึกษามาแล้วไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการให้ได้ผลดี ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีคุณสมบัติตรงตามที่สถานประกอบการต้องการมากที่สุด นอกจากนี้สหกิจศึกษายังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางวิชาการอันดีระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพกับสถานประกอบการที่นักศึกษาได้เข้าไปปฏิบัติงาน อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติต่อสถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกอีกด้วย

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำงานจริงในสถานประกอบการ
2.2 เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดการและการบริหารงานในสถานประกอบการอย่างละเอียด
2.3 เพื่อให้นักศึกษาพบเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสถานประกอบการ และสามารถแก้ปัญหา เฉพาะหน้าได้
2.4 เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสพัฒนาบุคลิกภาพ รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
2.5 เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การมีมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารกับผู้ร่วมงานในสถานประกอบการทั้งใน ระดับที่เป็นทางการและในการใช้ชีวิตตามปกติ การเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามที่เหมาะสม
2.6 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กับสถาน ประกอบการ
2.7 เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพต่อบุคคล และสถาบันต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอก

3. ประโยชน์ที่ได้รับจากสหกิจศึกษา
3.1 นักศึกษาสหกิจศึกษา
1) ได้รับประสบการณ์ตรงตามสาขาวิชาชีพที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
2) ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการและการบริหารงานภายในสถานประกอบการ
3) ได้พบเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่แท้จริงของสถานประกอบการและคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง
4) ได้มีโอกาสพัฒนาบุคลิกภาพ รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงาน และเกิดความมั่นใจในการทำงาน
5) ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
6) ได้พบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสถานประกอบการซึ่งจะนำไปเป็นโจทย์วิจัยในการทำโครงงาน
7) สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้อง เนื่องจากได้ค้นพบความถนัดของตนเองมากขึ้น
8) สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติสหกิจศึกษา และมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา
9) ได้รับใบรับรองการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

3.2 สถานประกอบการ
1) เกิดความร่วมมือทางวิชาการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการศึกษาอันจำนำไปสู่การ พัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรได้
2) องค์กรมีภาพพจน์ที่ดีในด้านการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาและช่วยพัฒนาบัณฑิตของชาติ
3) มีบุคลากรที่เป็นนักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมทางวิชาการระดับหนึ่งมาช่วยปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
4) พนักงานประจำมีเวลามากขึ้นที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นที่มีความสำคัญมากกว่า
5) เป็นวิธีการช่วยคัดเลือกนักศึกษาเข้าเป็นพนักงานประจำในอนาคตโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองงานก่อน

3.3 สถานศึกษา
1) สามารถผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ
2) ได้ข้อมูลจากสถานประกอบการเพื่อใช้ในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
3) เกิดความร่วมมือทางวิชาการอันจะเป็นประโยชน์กับการทำงานวิจัยเชิงพาณิชย์
4) คณาจารย์ได้รับการพัฒนาให้มีความรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ

4. ลักษณะงานสหกิจศึกษา
ในการปฏิบัติสหกิจศึกษา นักศึกษาจะได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจและคุ้นเคยกับโลกแห่งความจริงของการทำงานและการเรียนรู้ ทำให้ได้มาซึ่งทักษะของงานอาชีพและทักษะด้านการพัฒนาตนเองนอกเหนือไปจากทักษะด้านวิชาการ ทักษะเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อนักศึกษาไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่าง ๆ นักศึกษาที่ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาจะต้องปฏิบัติดังนี้
1) ปฏิบัติงานเสมือนหนึ่งเป็นพนักงานของสถานประกอบการ
2) มีหน้าที่และความรับผิดชอบชัดเจน มีคุณภาพ
3) ทำงานเต็มเวลา (Full Time)
4) ระยะเวลาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา 1 ภาคการศึกษา (ประมาณ 17 สัปดาห์)

5. ระบบการศึกษาสหกิจศึกษา
5.1 การจัดการศึกษา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้จัดระบบการศึกษาแบบทวิภาค การปฏิบัติสหกิจศึกษาจะใช้เวลา 1 ภาคการศึกษาซึ่งมีระยะเวลา 17 สัปดาห์ หลักสูตรสหกิจศึกษามีลักษณะดังนี้
1) เป็นหลักสูตรบังคับสำหรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือหลักสูตรอื่น ๆ ที่เข้าร่วมสหกิจศึกษา โดยสาขาวิชาต้นสังกัดของนักศึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าร่วมสหกิจศึกษา
2) ควรจัดภาคการศึกษาสหกิจศึกษาไว้ในภาคการศึกษาที่ 2 ของปีที่ 2 (หลักสูตรเทียบโอน) และภาคการศึกษาที่ 1 ของปีที่ 4 (ภาคปกติ)
3) วิชาสหกิจศึกษา (หรือวิชาที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีการจัดการศึกษาตามนัยนี้) มีหน่วกิต 6 หน่วยกิต การประเมินระดับคะแนนเป็น S และ U
4) นักศึกษาจะต้องปฏิบัติสหกิจศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา โดยมีระยะเวลาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 17 สัปดาห์
5) นักศึกษาต้องปฏิบัติสหกิจศึกษาในสถานประกอบการไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการปฏิบัติสหกิจศึกษาที่กำหนด

การประเมินผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษามีรายละเอียดดังนี้

รายละเอียดการประเมินผล

ผู้ประเมิน

ร้อยละ

1. แบบประเมินผลนักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (สสศ.05)

พนักงานที่ปรึกษาสหกิจศึกษา

50

2. แบบประเมินผลการนิเทศงานสหกิจศึกษา
(สสศ.11)

อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา

20

3. แบบประเมินรายงานการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา (สสศ.15)

อาจารย์ประสานงานสหกิจศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา

15

4. แบบประเมินผลการนำเสนอผลงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา (สสศ.16)

อาจารย์ประสานงานสหกิจศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา

15

รวม

100

เมื่อรวมผลการประเมินในข้อที่ 1 ถึง ข้อที่ 4 นักศึกษาปฏิบัติงานสหกิจศึกษาจะต้องได้ผลการประเมินรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จึงจะผ่านรายวิชาสหกิจศึกษา และได้ระดับคะแนนตัวอักษร S (Satisfactory หมายถึง เป็นที่พอใจ) หากนักศึกษาได้ผลการประเมินรวมน้อยกว่าร้อยละ 70 นักศึกษาจะไม่ผ่านรายวิชาสหกิจศึกษา และได้ระดับคะแนนตัวอักษร U (Unsatisfactory หมายถึง ไม่เป็นที่พอใจ) ทั้งนี้หากนักศึกษาได้ผลการประเมินรวมตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป จะได้รับเกียรติบัตรสหกิจศึกษา “ดีเด่น”